จอร์จ โซรอส (George Soros) ผู้ถล่มค่าเงินบาท และค่าเงินปอนด์
เรื่องPatihanUhas
จอร์จ โซรอส (George Soros) ผู้ถล่มค่าเงินบาท และค่าเงินปอนด์ โดยในบทความนี้จะเป็นการพูดคุยเรื่องของ จอร์จ โซรอส ในหนังสือ “จอร์จ โซรอส นักบุญคนบาป ราชาตลาดเงิน” โดยหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2540 เป็นปีเดียวกับที่ประเทศไทย พบเจอกับสถานการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง โดยคุณ ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
จอร์จ โซรอส (George Soros) ผู้ถล่มค่าเงินบาท และค่าเงินปอนด์
ในหนังสือ “จอร์จ โซรอส นักบุญคนบาป ราชาตลาดเงิน” มีเนื้อหาทั้งหมด 16 บท
- โจรสลัดในตลาดเงิน
- เฮดจ์ ฟันด์ : กองทุนอันตราย
- นักปราชญากับการฟันกำไร
- ควอนตัม ฟันด์
- แม็กโคร อินเวสติ้ง : วิถีการลงทุนของโซรอส
- เขาคือผู้ร้าย
- โซรอส กับตลาดเงินในอาเซียน
- โจรสลัดในตลาดเงิน
- เงินตราสกุลเดียว
- เมื่อโซรอสขาดทุน
- บทเรียนจากนักเก็งกำไร : จงเงียบเข้าไว้
- ศิลปะการลงทุน
- ไม่มีสูตรสำเร็จ
- ราชาตาเดียว ท่ามกลางคนตาบอด
- ภัยคุกคามทุนนิยม
- เงิน เงิน เงิน
จอร์จ โซรอส นักบุญคนบาป ราชาตลาดเงิน
หนังสือ “จอร์จ โซรอส นักบุญคนบาป ราชาตลาดเงิน” โดยหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2540 เป็นปีเดียวกับที่ประเทศไทย พบเจอกับสถานการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง โดยคุณ ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ หนังสือเล่มนี้จัดได้ว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากถูกเขียนในตอนที่เกิดวิกฤติพอดีจึงทำให้อารมณ์ในการอ่านรู้สึกอินไปกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างมาก
ในตอนแรกก่อนที่ผมจะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ในใจลึกๆ ผมเตรียมใจว่า หนังสือเล่มนี้อาจจะโยนความผิดว่าจอร์จ โซรอส เป็นเหมือนคนผิด เหมือนที่หลายๆ สื่อไทยในตอนนั้นเล่นข่าว ว่า “โซลอส’ คือ ต้นเหตุวิกฤติทางการเงินของประเทศไทยในตอนนั้น เรียกได้ว่า พออ่านจบ ผมรู้สึกผิดคลาดเป็นอย่างมาก หนังสือเล่มนี้เล่าได้อย่างเป็นกลางและมีเหตุผล
หากผู้อ่านสนใจอยากที่จะซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน สามารถหาซื้อออนไลน์ได้แล้ว เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือหายากไปแล้ว อาจจะมีราคาสูงกว่าราคาปกหนังสือเล็กน้อย เพราะส่วนตัวผมเองก็ซื้อมาในราคาที่แพงกว่าราคาปก แต่ผมอยากได้หนังสือสักเล่มที่ถูกเขียนมาในตอนที่อยู่ท่ามกลางวิกฤติ เพราะอารมณ์จะแตกต่างจากการอ่านหนังสือที่เป็นกรณีศึกษาเหตุการณ์เก่าๆ
สรุปเรื่องของ จอร์จ โซรอส ในหนังสือ
ในบทความนี้ผมไม่ได้มาสรุปหนังสือ หรือรีวิวหนังสือใดๆ ทั้งสิ้น หากผู้อ่านสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาซื้อหนังสือมาอ่านได้เลยนะครับ
ในภาวะฟองสบู่แตก เจ้าสัวชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ยอมรับว่า ภาวะในตอนนี้ เจ้าสัว ยังจนลงกว่า 65% สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะประเทศไทยของเราได้พ่ายแพ้สงครามค่าเงิน ให้กับชายคนหนึ่ง ชายคนนั้นคือ จอร์จ โซรอส (George Soros)
ในตอนนั้นน้อยคนนักในประเทศไทยที่รู้จักจอร์จ โซรอส (George Soros) เขาได้รับความสนใจอย่างล้นหลามเมื่อวิฤติต้มยำกุ้งเกิดขึ้น และในตอนนั้น ปี 2540 การหาข้อมูลไม่ได้หาง่ายเหมือนในทุกวันนี้ หลายสื่อเล่นข่าว จอร์จ โซรอส (George Soros) อย่างหนัก ว่าคือผู้ร้ายโจมตีค่าเงินบาทของประเทศไทย และไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่โดนผลกระทบในตอนนั้น ยังมีประเทศสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่ได้รับบาดเจ็บไปกับเราด้วย
ทำให้สถานะของจอร์จ โซรอส (George Soros) ไม่แตกต่างอะไรจากคนบาปเลย เขาทำให้คนมากมายต้องตกระกำลำบาก จากการเก็งกำไรค่าเงินของเขา ทำให้คนในแถบอาเซียนมองเขาว่าเขาคือ คนบาป แต่สำหรับคนยุโรปตะวันออกมองว่าเขาคือ นักบุญ เพราะเขาบริจาคเงินจำนวนมหาศาลช่วยเหลือประเทศเหล่านั้น ทำให้หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “จอร์จ โซรอส นักบุญคนบาป ราชาตลาดเงิน”
ในวันที่ฟองสบู่ของประเทศไทยแตกจนกลายเป็น วิกฤติต้มยำกุ้ง คำถามแรกที่ปรากฎขึ้น คือ ใครคือ จอร์จ โซรอส
ต้นปี 2540 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจรายงานข่าวเกี่ยวกับค่าเงินบาท ซึ่งมีการซื้อขายกันวันละหลักแสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่เยอะมากๆ เพราะแสนล้านบาท คือ จำนวนเงินเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในตอนนั้นหลายสื่อประโคมข่าวว่า ไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย หากคงการเติบโตในระดับนี้ได้ และในตอนนั้นก็มีอีกกลุ่มคน ชื่อว่า เฮดจ์ ฟันด์ เปรียบเสมือนกับผู้คอยตรวจสอบความผิดปกติของระบบการเงิน หากเขาพบช่องโหว่เขาจะโดดเข้ามาทำกำไร
หลังจากกลุ่มเฮดจ์ ฟันด์นี้ สอดส่องสายตาไปทั่วโลก เขาก็ได้พบประเทศไทย และจริงๆ แล้ว เขาอาจจะจับตามองไทยอยู่แล้วก็ได้ แค่ยังไม่ทำการลงมือ และเขาเลือกเวลาลงมือในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 ถือว่าเป็นการโจมตีครั้งแรก และรุนแรงที่สุดในเดือนพฤษภาคมปี 2540 เรียกได้ว่านี่คือ สงครามขนานแท้ ที่มีเงินเป็นอาวุธในการต่อสู้กัน ในตอนนั้นไทยแพ้สงครามอย่างราบคราบ ทำให้ประเทศไทยสูญเงินสำรอง ไปกว่า 100,000 ล้านบาท และถูกโจมตีอีกรอบเมื่อ 30 มิถุนายน ปี 2540 จึงทำให้ประเทศไทยยกธงขาว และเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนจากตายตัวเป็นอัตราลอยตัว 2 กรกฎาคม ปี 2540
ในปี 2540 ในตอนนั้นทองคำมีราคา 4,800 บาท ในปี 2565 ทองคำ มีราคา 30,000 บาท ดังนั้นมูลค่า 100,000 ล้านบาทในตอนนั้น อาจจะมีมูลค่ามากกว่า 600,000 ล้านบาทในวันนี้
การยอมลอยตัวค่าเงินบาทในตอนนั้นส่งผลให้
จากเดิม ค่าเงินบาท อยู่ประมาณ 24-26 บาทต่อดอลลาร์ ถูกปล่อยเคลื่อนไหวอย่างอิสระ จนทำสถิติสูงสุดที่ 56.50 บาทต่อดอลลาร์ จึงทำให้หลายคนเจ๊ง สถาบันการเงินถูกระงับดำเนินกิจการ 58 แห่ง โดยมีแค่ 2 จาก 58 สถาบันการเงินกลับมาได้ ที่เหลือ 56 แห่งเข้าสู่กระบวนการขายทรัพย์สิน เพื่อชำระบัญชี เรียกได้ว่าสถานการณ์นี้หนักหน่วงเป็นอย่างมากทำให้เสือที่กำลังจะเป็นตัวที่ 5 หลับไปยาวนานมากกว่า 25 ปี
ไม่ใช่ที่ไทยเท่านั้นที่โดน จอร์จ โซรอส เล่นงาน
ก่อนเดือนกันยายน 2535 โลกยังรู้จักจอร์จ โซรอสน้อยเกินไป หรือ 5 ปีก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ในเดือนกันยายน 2535 ในเดือนนี้จอร์จ โซรอส ถล่มค่าเงินปอนด์อังกฤษอย่างหนักหน่วง ด้วยวงเงินลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้น จอห์น เมเจอร์ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ยกธงขาวยอมแพ้ เพียงแค่ชั่วข้ามคืน จอร์จ โซรอส ทำกำไรได้กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนอังกฤษตัดสินใจเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนแบบเดิม มาใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว
เรียกได้ว่า จอร์จ โซรอส สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากกองทุนของเขา เขาเริ่มต้นกองทุนด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2512 และในปี 2540 เงินลงทุนในกองทุนของเขามีกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักรบย่อมมีบาดแผล จอร์จ โซรอส ก็ขาดทุนหนัก
แม้เขาสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากการเทรดค่าเงิน จอร์จ โซรอส เองก็เคยขาดทุนอย่างหนักเช่นเดียวกัน การขาดทุนครั้งใหญ่ครั้งแรกเมื่อปี 1981 ครั้งนั้นหนักจนเศรษฐีในกองทุนของเขา ถอนเงินออกจากกองทุนประมาณครึ่งหนึ่ง เหลือเงินให้เขาบริหารเพียง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
และในปี 1987 โซรอสคาดการณ์ว่า ฟองสบู่ญี่ปุ่นจะแตก เขาประเมินสถาณการณ์ตามทฤษฎีของเขา เขาเริ่มทุ่มอย่างหนักไปกับการทำกำไรขาลง Short แต่เหมือนว่า ตลาดญี่ปุ่นก็ยังปรับตัวขึ้นไป จนถึงเดือนตุลาคม 1987 ตลาดหุ้นสหรัฐถล่มด้วยเหตุการณ์ Black Monday เขาทำกำไรขาขึ้น Long ในสหรัฐอเมริกา แต่ตลาดดันร่วงลง เขาทำกำไรขาลงแบบ Short ในตลาดญี่ปุ่น แต่ตลาดญี่ปุ่นดันขึ้นต่อไม่หยุดการเก็งกำไรของเขาในรอบนี้ทำให้เขาขาดทุนไปกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่พอสิ้นปีเขาก็กลับมาทำกำไรได้ จนกองทุนของเขากำไร +14% ในปีนั้น เขายึดคติที่ว่า ‘เอาตัวเองให้รอดก่อน ทำกำไรเอาไว้ทีหลัง’
ครั้งต่อมาในปี 1994 เขาคาดการณ์ว่าเงิน JPY ของญี่ปุ่น จะอ่อนค่า แต่เงินเยน JPY ดันแข็งค่าขึ้น ทำให้ตอนนั้นสื่อต่างๆ ลงว่าเขาขาดทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เขาออกมายอมรับว่าเขาขาดทุน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่เขาคาดการณ์แบบนี้ เพราะในตอนนั้นประธานาธิบดีสหรัฐกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเจรจาเรื่องให้ค่าเงินเยนอ่อนลง แต่ที่ไหนได้ผิดคาดค่าเงินเยนกลับแข็งขึ้น แต่เงินจำนวน 600 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5% ของทรัพย์สินของโซรอสเท่านั้นเอง
สิ่งที่น่าสนใจคือ โซรอส ไม่เขินอายที่จะยอมรับว่าขาดทุน แต่ถ้าพบความผิดพลาด แล้วไม่ยอมแก้ไข นี่สิ คือสิ่งที่น่าละอาย
เขาเชื่อว่า เขาต่างจากนักลงทุนคนอื่นๆ ไม่ใช่เพราะเขาวิเคราะห์แม่นยำกว่าคนอื่นๆ เขาบอกว่า เราต่างก็ผิดๆ ถูกๆ เหมือนกัน แต่ผมไม่เหมือนคนอื่นๆ ตรงที่ผมติดตามความผิดพลาดในการวิเคราะห์มากกว่าคนอื่นๆ
โซรอสเป็นนักลงทุนที่ใส่หนักและ Overtrade แต่เขาจะรีบ Stop Loss อย่างไว ถ้าสถาการณ์มันผิดจากที่เขาคาดการณ์เอาไว้
จอร์จ โซรอส คือ คนร้ายหรือไม่
มีคำครหาต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับ จอร์จ โซรอส เพราะทุกการกระทำของเขาจะมีคนที่ได้รับผลกระทบเสมอ จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อย่างเช่น การเก็งกำไรค่าเงินบาท ทำให้โซรอสได้กำไรมหาศาล ขนาดที่ว่า 30% ของการโจมตีค่าเงินบาทมาจากโซรอส หลายสื่อมักลงข่าวว่า ต้นเหตุของการทำให้ไทยพบวิกฤติคือ จอร์จ โซรอส
สรุป จอร์จ โซรอส คือ ตัวการที่ทำให้ประเทศไทยเป็นแบบนี้หรือไม่? โซรอสเคยกล่าวเอาไว้ว่า หากระบบการเงินของโลกไม่บกพร่องแล้ว เขาก็คงไม่มาเก็งกำไรค่าเงินได้ เพราะเขาเก็งกำไรตามกฎหมายทุกอย่าง แต่เมื่อผิดพลาดแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่มามองหาแพะรับบาปเพื่อปกปิดความผิดพลาดของตัวเอง
จอร์จ โซรอส กับกรณีวิกฤติต้มยำกุ้ง
กรณีของไทย นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้หลายเดือนก่อนที่จะเกิดวิกฤติแล้ว ว่าค่าเงินบาทมีมูลค่าสูงเกินกว่าความเป็นจริง เพราะในตอนนั้นปัจจัยพื้นฐานหลายอย่าง ยังไม่เอื้อทำให้ค่าเงินบาทมีมูลค่าขนาดนั้น เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ IMF ก็เตือนรัฐบาลไทยมาก่อนตั้งแต่ปี 2539 แต่ปมทางการเมืองทำให้เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ในตอนนั้น
การเข้ามาของจอร์จ โซรอส เป็นกับกองทุนควันตัม ฟันด์ เป็นการลงโทษนโยบายการเงินที่ไม่เอาไหน สำหรับเขานั้น การเก็งกำไรคือความชั่วร้ายที่จำเป็น เพราะต่อให้เขาไม่ทำอะไร ยังไงระบบการเงินก็พังอยู่ดี เพราะปัจจัยพื้นฐานไม่ดีนั้นเอง
คำครหาจากมหาธีร์ Vs จอร์จ โซรอส
มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย โจมตี จอร์จ โซรอส อย่างหนัก และเขาเชื่อว่าจอร์จ โซรอส ต้องการลงโทษอาเซียนที่รับหม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในตอนนั้น เพราะพม่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่สมาชิกอาเซียนกลับรับพม่าเข้าเป็นสมาชิก และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะมหาธีร์ โมฮัมเหม็ด ต้องการให้การเก็งกำไรค่าเงินเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
การโจมตีของมหาธีร์ โมฮัมเหม็ด ยังคงโจมตีโซรอสอย่างต่อเนื่อง แต่ยังขาดหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันตามที่เขากล่าวหา จนโซรอสตอกกลับว่า
เป็นความคิดเห็นที่ไร้สาระ เขาไม่ใส่ใจ นี่เป็นการสร้างหายนะให้กับประเทศตัวเอง แล้วมาให้ผมเป็นแพะรับบาป เพื่อปกปิดความผิดพลาดในการบริหารงานของตัวเอง
หลยสื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าทำไม มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด โกรธโซรอสเป็นอย่างมาก หลายสื่อลงว่า ที่เป็นแบบนั่นส่วนหนึ่งมาจากตอนที่โซรอส ถล่มค่าเงินปอนด์ ทำให้ธนาคารกลางของมาเลเซียขาดทุนกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะถือคนละฝั่งกับโซรอส และการโจมตีค่าเงินบาทก็ส่งผลกระทบต่อมาเลเซียอย่างหนักเช่นเดียวกัน
จอร์จ โซรอส คือ คนร้ายหรือไม่
จากในมุมมองผมที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะบอกว่า จอร์จ โซรอส เป็นคนร้ายก็ไม่ถูก เพราะเขาเองก็เคยกล่าวว่า ถ้าระบบการเงินไม่มีปัญหาเขาก็คงทำกำไรไม่ได้ แต่สื่อต่างๆ รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องโจมตีเขาเพราะเหตุผลทางการเมือง หวังคะแนนเสียง ที่การบริหารของตัวเองล้มเหลว แล้วไม่แสดงความรับผิดชอบ จึงต้องโทษจอร์จ โซรอส ว่าเขาคือคนโจมตี และต้องย้อนกลับไปที่ต้นประโยคว่า ถ้าระบบการเงินไม่มีปัญหาเขาก็คงทำกำไรไม่ได้ ต่อให้ไม่มีเขาระบบการเงินที่แย่ สุดท้ายยังไงก็พังอยู่ดี
จอร์จ โซรอส คนเห็นแก่เงิน หรือไม่
จากที่อ่านมาเหมือนว่า จอร์จ โซรอส คือคนหิวเงิน นักล่าเงินเขาเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือไม่? ที่จริงแล้วในหนังสือเล่มนี้ก็เขียนเอาไว้เช่นเดียวกัน ในบทที่ 16 เงิน เงิน เงิน ได้เขียนว่า ถึงแม้เขาจะได้กำไรมหาศาลจากการเก็งกำไรค่าเงิน แต่ทัศนคติของเขาที่มีต่อเงินไม่เหมือนอภิมหาเศรษฐีทั่วๆ ไป เขามองว่า เงินไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต การตั้งหาตั้งตาหาเงินอย่างเดียวเป็นสิ่งไร้สาระ และเขาไม่ชอบสะสมทางด้านวัตถุสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะงานภาพหรือไวน์ในห้องใต้ดิน เขาจึงใช้เงินไม่มากนักในการดำเนินชีวิต เงินส่วนใหญ่ของจอร์จ โซรอส จึงถูกนำไปใช้กับมูลนิธิของเขา
ตัวเงินอาจจะไม่ได้สำคัญสำหรับตัวเขามากสักเท่าไหร่ แต่เงินมีพลังงานบางอย่างที่เขาต้องการ
- ในมุมมองหนึ่งเงินทำให้คนใส่ใจในความคิดของเขา
- เงินทำให้เขาเป็นที่รู้จัก
- เงินทำให้เสียงของเขาเป็นที่ได้ยิน
เขามองว่าเขาคงประสบความสำเร็จในการจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ไม่ได้เลย ถ้าเขาไม่มีเงิน
เขาบริจาคเงินมากมายเพื่อทำตามอุดมการณ์ของเขา และในปี 2017 โซรอสมีทรัพย์สิน 25.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาบริจากเงินไป 17.6 ล้านดอลลาร์ ทำให้เขาเหลือทรัพย์สินปี 2018 อยู่ที่ 8พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2022 เขามีทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ 8.6พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นข้อมูลที่ผมหาเพิ่ม
โลกทุนนิยมเสรีทำให้ คนรวย รวยขึ้น คนจน จนลง
โลกทุนนิยมเสรีทำให้ คนรวย รวยขึ้น คนจน จนลง คำนี้เราคงเห็นจนชินในปัจจุบันแต่จริงๆ แล้วโซรอสเขาบอกไว้เมื่อนานมาแล้ว และในหนังสือเล่มนี้ก็เขียนเอาไว้ว่าโลกทุนนิยมแบบเสรีจะทำให้โลกมีปัญหาคือ คนรวย รวยขึ้น คนจน จนลง ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งนี้เกิดเป็นภาพชัดขึ้นมากในปัจจุบัน เขาพยายามอธิบายตลอดว่าโลกนี้ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง
เขาไม่เชื่อว่าการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม จะเกิดขึ้นหากเป็นตลาดแบบเสรี เช่น ความยุติธรรมทางสังคม จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากเป็นการแข่งขันแบบเสรี และตลาดการเงินจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพดีที่สุด และแบบการเงินนี้จะทำให้คนรวย รวยขึ้น คนจน จนลง พอพูดถึงตรงนี้หลายคนอาจจะอยากแย้งว่า ก็ใช่ไง และ จอร์จ โซรอส คือ หนึ่งในคนรวยที่ว่ามานั้น
จอร์จ โซรอสไม่ปฏิเสธและบอกว่า ก็ใช่ไง การที่เป็นแบบนี้ข้อพิสูจน์แล้วว่าเขาคิดถูกว่าตลาดมันไม่สมบูรณ์ เขาก็เลยใช้ช่องว่าตรงนี้ในการทำกำไร มันจึงทำให้เขารวยขึ้น
กลไกราคาของตลาดเสรี
กลับมาที่เรื่องกราฟราคาในตลาดเงินตามหลักเศรษฐศาสตร์มันก็จริงอยู่ที่ว่าราคาจะผันผวนตามอุปสงค์และอุปทาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นไม่ใช่แบบนั้นเพราะถ้าทุกอย่างเป็นแบบนั้นเราคงไม่เห็นฟองสบู่แตก โซรอสกล่าวว่า ราคาที่แท้จริงผันผวนตามความคาดหวังของผู้ซื้อและผู้ขาย และความผันผวนก็อาจจะสูงมากยิ่งขึ้น ยิ่งเสรีมากเท่าไหร่ ราคาจะผันผวนมากเท่านั้น
เทคนิคในการเทรดของจอร์จ โซรอส
หากจะพูดถึงสูตรสำเร็จของจอร์ โซรอส ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้ คำตอบคือ ไม่มี ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จเขาพูดไว้เองว่า เขาปรับตัวตามสถานการณ์ ไม่ได้เล่นตามสูตรที่แน่นอนหรือยึดแผนเดิมเอาไว้อยู่
แต่หลักการของเขา คือ โซรอสจะประเมินภาพกว้าง หาช่องโหว่ และค่อยๆ เจาะลึกลงไปในรายละเอียด จนรู้ว่าจะ Short เมื่อไหร่ หลังจากนั้นเขาจะเทรดอย่างหนัก หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คิด เขาจะถอนทุนออกมาอย่างไว เพราะเขามองว่าเขาได้ทำการเทรดแบบ Overtrade เขาต้องตัดสินใจที่จะ Stop Loss ให้เร็วที่สุด เหมือนกับประโยคที่เขาเคยบอกว่า ‘เราต่างก็ผิดๆ ถูกๆ เหมือนกัน แต่ผมไม่เหมือนคนอื่นๆ ตรงที่ผมติดตามความผิดพลาดในการวิเคราะห์มากกว่าคนอื่นๆ’
บทเรียนหนึ่งที่สำคัญและเคยเตือนใจโซรอสเสมอมา คือ ตอนที่เขาขาดทุนในเงินเยน เขาลงทุนด้วยความใจร้อน ทั้งๆ ที่สถาณการณ์ยังคลุมเครืออยู่ หลังจากนั้นเขาจึงเลือกที่จะอยู่นิ่งๆ หากยังไม่แน่ใจในสถานการณ์
และทีมงานมือขวาของโซรอสเปิดเผยว่า เขาไม่เคยโดนจอร์จ โซรอส ตำหนิเรื่องวิเคราะห์สถาณการณ์ผิดเลย เขามักโดนโซรอสตำหนิเมื่อเขามั่นใจในตลาดมากๆ แต่เขาเทรดแบบกล้าๆ กลัวๆ นั่นเอง
Author: