Ray Dalio โลกกำลังจะเปลี่ยนไป อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน.. “โลกเรากำลังจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใหม่.. อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้”
รู้จัก Ray Dalio
Ray Dalio ผู้ก่อตั้งบริษัท Bridgewater Associates ที่เป็น Hedge Fund หรือกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัท Bridgewater Associates รับบริหารเงินมากกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สถาบันต่างๆ, รัฐบาลต่างประเทศ, ธนาคารกลาง, กองทุนบำเหน็จบำนาญ, ทุนมหาวิทยาลัย, และมูลนิธิการกุศล และอื่นๆอีกมากมายนับไม่ถ้วน
โดย ณ ปัจจุบัน Ray Dalio มีทรัพย์สินอยู่ที่ $22,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 71 ของโลก
ข้อมูลจาก forbes.com/profile/ray-dalio/
นอกจากบทบาทนักลงทุนแล้ว เขาก็ยังเป็นนักเขียนที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย หนังสือทุกเล่มของเขาโด่งดังเป็น Best seller และได้สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนชีวิตผู้คนมากมายให้ดีขึ้น
(เหล่านี้คือหนังสือทั้งหมดของ Ray Dalio) แต่บทความนี้เราจะมาพูดถึงหนังสือเรื่อง “Principles for Dealing with the Changing World Order”
ในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจเพื่อแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมถึงการแข่งขันในการเป็นชาติมหาอำนาจเพื่อกำหนดทิศทางและความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศจนสามารถเป็นผู้นำในการจัดระเบียบโลก (World Order)
หนังสือ “ดี” ที่ควร “อ่าน
สรุปใจความสำคัญของหนังสือ
“Principles for Dealing with the Changing World Order: Why Nations Succeed and Fail”
เกริ่นเรื่อง
“โลกเรากำลังจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใหม่.. อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้” แต่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในประวัติศาสตร์ จุดประสงค์ของ Ray Dalio ในการเขียนหนังสือนี้ขึ้นมา คือเพื่อแสดงให้พวกเราเห็นถึงกลไกที่ขับเคลื่อนของโลกของเรา และอยากที่จะมาแบ่งปันความรู้ที่เขาได้มาจาการวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบใหม่ของโลกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
กว่า 50 ปีในการลงทุนทางเศรษกิจทั่วโลกของ Ray Dalio เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเงินของธนาคาร สงครามระหว่างประเทศ สงครามภายในประเทศ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่มีมากเกินไป เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความประหลาดใจให้ Ray Dalio ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจค้าคว้าหาความรู้โดยการศึกษาประวัติศาสตร์ 500 ปี ที่ผ่านมา เรียนรู้จากวงจรการเติบโตของประเทศมหาอำนาจโลก ที่มีในอดีตแต่ละยุค ตั้งแต่เติบโตเป็นมหาอำนาจไปจนเสื่อมลง และมีการเกิดขึ้นทดแทนของประเทศมหาอำนาจรายใหม่
การศึกษาอย่างละเอียดทำให้ Ray Dalio ค้นพบว่ามีอยู่ 3 ช่วงด้วยกันในการเปลี่ยนแปลงของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก คือ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” และในช่วงก่อนที่จะดับไปหรือช่วงเสื่อมสลายอำนาจ เขาได้ค้นพบว่ามี “สัญญาน” บางอย่างที่บ่งบอกว่าประเทศนั้นกำลังเสื่อมมหาอำนาจ
และยังได้ค้นพบอีกว่าปัจจัยอะไรบ้าง?
- ที่สามารถช่วยสนับสนุนให้เป็นประเทศมหาอำนาจโลกก้าวหน้า
- ทำลายความก้าวหน้าจะเข้าสู่การเสื่อมสลายของประเทศมหาอำนาจ
ประวัติศาสตร์นั้นแสดงให้เราเห็นแล้วว่าส่วนใหญ่แล้ว ช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนั้นมักจะมาจากการบริหารเงินที่ผิดพลาดของประเทศ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความมั่งคั่งและอำนาจ และก็เหตุการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงเช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และโรคระบาด
แต่ประเทศที่มักจะทนและรอดมาได้มักจะเป็นประเทศที่มีเงินเก็บมาก หนี้ต่ำ และมีสกุลเงินที่แข็งแรงพอที่จะทนทานต่อการล่มจมของเศรษฐกิจและเครดิตมากกว่าประเทศที่มีน้อยกว่า
ในอนาคตที่จะถึงเร็วๆนี้มีความเป็นไปได้ มาก/น้อย แค่ไหนที่จะมีการเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจทางการเงินระดับโลก?…. ถ้าอยากรู้ก็ต้องอ่านข้อมูลที่ทางเราสรุปให้ด้านล่างนี้ แต่ถ้าหากอยากได้รายละเอียดพร้อมทั้งหลักฐานการวิจัย แนะนำให้ไปหาหนังสือมาอ่าน เพราะว่าละเอียดมาก
- ตอนที่ 1 Ray Dalio สามารถคาดการณ์โลกอนาคตโดยการเรียนรู้จากอดีตได้อย่างไร?
- ตอนที่ 2 การเปลี่ยนขั้วของประเทศมหาอำนาจ
- ตอนที่ 3 วัฏจักรของการเปลี่ยนแปลง
- ตอนที่ 4 ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรือง (The Rise: เกิดขึ้น)
- ตอนที่ 5 ช่วงเวลาดำรงอยู่ (The Top: ตั้งอยู่)
- ตอนที่ 6 ช่วงเวลาแห่งความเสื่อมสลาย (The Decline:ดับไป)
- ตอนที่ 7 ทำนายอนาคตจากอดีตที่ผ่านมา (The Future)
ตอนที่ 1 Ray Dalio สามารถคาดการณ์โลกอนาคตโดยการเรียนรู้จากอดีตได้อย่างไร?
ย้อนกลับไปในปี1971 ตอนที่ Ray Dalio ยังเป็นวัยรุ่น มีอาชีพเสมียนที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก คือมีหน้าที่เป็นคนจดราคาหุ้น ณ สิ้นวันตลาดปิดและในช่วงนั้นก็มีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การ “งดรับแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำ” และถือว่าเป็นการล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์
Ray Dalio สมัยที่เป็นเสมียนที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
ระบบเบรตตันวูดส์ ที่ทำให้ ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินหลักของโลก เล่าย้อนว่า “การจัดระเบียบการเงินโลกภายใต้ระบบเบรตตันวูดส์” มีความเป็นมาอย่างไร?
สงครามโลกครั้งที่สอง ( 1939 – 1945) ได้ส่งผลเสียหายต่อชีวิตและผู้คนและความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างประมาณค่ามิได้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมิเพียงแต่เกิดขึ้นแก่ประเทศผู้แพ้สงคราม แต่ยังรวมถึงประเทศผู้ชนะสงครามอีกด้วย
สงครามโลกครั้งที่สองได้จบลงอย่างสมบูรณ์ในปี1945 หลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ หลายคนเชื่อว่า หากยึดถือบทเรียนของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่า 30 ปีนั้น ประเทศผู้แพ้สงครามคือ เยอรมนีและอิตาลีย่อมไม่สามารถจะกอบกู้เศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะหากใช้นโยบายและมาตรการที่ผลักภาระให้กับประเทศผู้แพ้สงคราม
ดังนั้นจึงได้มีการร่วมมือกันเพื่อที่จะกอบกู้เศรษฐกิจเพื่อไม่ให้ประเทศผู้แพ้สงครามเดือดร้อน จึงมีการประชุมกันปรึกษาหารือกัน ระหว่าง 1 -22 กรกฎาคม1944 ที่เมืองเบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมเชียร์ สหรัฐอเมริกา โดยประเทศเข้าร่วมประชุมจำนวน 44 ชาติ เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกภายหลังสงคราม
ในการประชุมดังกล่าว นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เพื่อหาหนทางกอบกู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อจัดระบบทางการเงินของโลก คือ
- ศาสตราจารย์ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ส่วน
- คณะผู้แทนของสหรัฐฯ นำโดยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยการเงินของกระทรวงการคลัง แฮรี่ ดี ไวท์ (Harry D. White)
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เฮนี่ มอร์เกนธอ (Henry Morgenthau)
ซึ่งเสนอว่า ระบบการเงินโลกควรเน้นการมีเสถียรภาพเป็นหลัก เพื่อประโยชน์ในการค้า โดยเห็นว่าระบบการเงินโลกหลังสงครามโลกมีควรความยืดหยุ่นกว่าระบบมาตรฐานทองคำที่ใช้ก่อนสงคราม เพราะการผูกเงินตราไว้กับทองคำจะก่อให้เกิดแรงกดดันไปสู่เงินฝืด (Deflation)
ที่ประชุมเบรตตันวูดส์ ได้ลงมติว่า “ข้อตกลงเบรตตัน วูดส์” (Bretton Woods Agreements ) เพื่อจัดระเบียบการเงินในโลกใหม่โดยมีแนวทางดังนี้
- ยกให้ทองคำและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ
- ยกให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐผูกกับทองคำเพียงสกุลเดียว ซึ่งการผูกสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกับทองคำเพียงสกุลเดียวไว้แบบนี้ จึงทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นจนท้ายที่สุดแล้ว ดอลลาร์สหรัฐ ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นสกุลเงินหลักของโลก
- อัตราแลกเปลี่ยนทองคำอยู่ที่ $35 : 1 ออนซ์
“สัญญาณ” การล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐถือว่าเป็นประเทศที่มี “ทองคำ” มากที่สุดในโลก ทั่วโลกจึงหันมาใช้ระบบ Breton Wood คือการผูกสกุลเงินสหรัฐฯ ไว้กับทองคำเพียงแค่สกุลเงินเดียว แล้วให้สกุลเงินของประเทศต่าง ๆ มาผูกกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐด้วยค่าคงที่อีกที โดยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถนำสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ตามต้องการ
การแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับทองได้อย่างเสรี ส่งผลให้สหรัฐมีทองคำเหลือเก็บน้อยลงๆ ถ้ายังฝืนปล่อยให้คนแลกทองคำอย่างสรีแบบนี้ สักวันทองคำจะต้องไม่เหลือแน่ ดังนั้นทางสหรัฐจึงได้ “ยกเลิกข้อตกลง” ดั่งกล่าวที่เคยให้ไว้
Richard Milhous Nixon เป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกาซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1969 – 1974 ในวันที่ 15 สิงหาคม 1971 ประวัติศาสตร์การเงินของโลกได้บันทึกไว้ว่า เป็นวัน “Nixon’s Shock” เนื่องจากเป็นวันที่ประเทศสหรัฐฯ ประกาศ “งดรับแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำ” และถือเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณการล่มสลายของระบบค่าเสมอภาค หรือระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton woods system)
ทันทีที่ Ray Dalio เห็นข่าวดังนั้น เขาคิดว่าวันรุ่งขึ้นหุ้นจะต้องตกแน่นอน แต่ปรากฏว่าหุ้นกลับพุ่งสูงขึ้น ขึ้นเกือบ 25% ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตกใจมาก เพราะว่าเขาไม่เคยพบเจอกับเหตุการณ์ การลดค่าเงิน (currency devaluation) แบบนี้มาก่อน
แต่เมื่อเขาได้ขุดค้นประวัติศาสตร์ เขาก็ได้ค้นพบว่าสิ่งเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 1933
คำเตือนจาก Ray Dalio
“When central banks print a lot of money, (Buy Stocks, Gold, and commodities)”
“เมื่อธนาคารกลางปรินท์เงินมากขึ้น (ให้ซื้อหุ้น, ทอง, และสินค้าโภคภัณฑ์)”
“To understand what is coming … You need to understand what happened before.”
“เพื่อที่จะทำนายอนาคตได้… คุณต้องทำความเข้าใจอดีตให้ได้เสียก่อน”
ตอนที่ 2 การเปลี่ยนขั้วของประเทศมหาอำนาจ
3 สิ่งที่กระตุ้นให้ Ray Dalio ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ
- ประเทศต่างๆไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ แม้ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0 แล้วก็ตาม ดังนั้นธนาคารกล้างของประเทศนั้นๆ จึงแก้ปัญหาโดยการปรินท์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก
- ความขัดแย้งภายในประเทศ ที่เกิดขึ้นจากช่องว่างระหว่างความมั่งคั่งและคุณค่า ทำให้เกิดการพรรคพวกขึ้นภายในประเทศ ประเทศขาดความสามัคคี
- ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศมหาอำนาจปัจจุบันและประเทศที่กำลังพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะก้าวขึ้นสู่ประเทศมหาอำนาจต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างที่เราปัจจุบันนี้ ที่มีการแข่งกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เศรษกิจ การศึกษา ต่างๆมากมาย
Ray Dalio จึงตัดสินใจศึกษาวิจัยพร้อมกับทีมงานของเขา และก็ได้ค้นพบว่ามีการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของประเทศมหาอำนาจ วัฏจักรเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วยังคงเหมือนเดิมตลอดทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่พื้นฐานของวงจรชีวิตมนุษย์ยังคงเหมือนเดิมตามวัย เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากตามกาลเวลา ตัวอย่างเช่น ความกลัว ความโลภ ความหึงหวง และอารมณ์พื้นฐานอื่นๆ
การเปลี่ยนขั้วของประเทศมหาอำนาจ(เปลี่ยนแปลงระบบทางการเงินโลก)ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2
2 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายต่าง
- Civil war: สงครามภายในประเทศ
- International war: สงครามระหว่างประเทศ
เมื่อมีการปฎิวัติก็จะมีทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะ คนหรือฝ่ายที่เป็นผู้ชนะมีอำนาจที่จะกำหนดรัฐธรรมนูญ กฎต่างๆภายในประเทศ
ยกตัวอย่าง
- การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) โดยสหรัฐในปี 1789
- การปฏิวัติรัสเซีย (Russian Civil War)ในปี 1917 สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- การปฏิวัติจีนในปี 1949 “เหมา เจ๋อตง” ประกาศตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน”
ระเบียบของโลกปัจจุบันซึ่งมีสหรัฐเป็นประเทศมหาอำนาจ หลังจากเป็นผู้ชนะจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การเป็นผู้ชนะทำให้สหรัฐสามารถวางกฎระบบอะไรก็ได้ ดังนั้นเขาจึงสามามารถวางระบบการเงินทั่วโลกได้ ในปี 1944 ระบบเบรตตันวูดส์(Bretton woods system) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลายมาเป็นสกุลเงินสำรองชั้นนำของแทนที่เงินยูโร
เงินดอลลาร์สหรัฐ = Reserve Currency
reserve currency คือ สกุลเงินสำรองที่ทั่วโลกยอมรับ ธนาคารกลางแต่ละประเทศจะต้องเก็บเงินทุนสำรองไว้ในกองคลัง และสามารถนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีเมื่อจำเป็น เช่น การชดเชยการขาดดุลการชำระเงินหรือใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การแทรกแซงค่าเงินและใช้หนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้งาน
โดยทั่วไปแล้วคนมักนิยมสำรองเป็นเงินตราที่มีการใช้บ่อยเช่น เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เงินยูโร เงินปอนด์อังกฤษ เงินเยนและเงินหยวน ***(ล่าสุดนี้ทางประเทศจีนได้ออกแบบ e-CNY หรือเงินหยวนดิจิทัล คือการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยสกุลเงินดิจิทัล มีอีกชื่อเรียกหนึ่งคือ (DCEP: Digital Currency Electronic Payment)
DCEP สามารถชำระเงินได้โดยไร้อินเตอร์เน็ต และเมื่อทำธุรกรรมทางเงินก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม นวัตกรรมใหม่นี้สามารถสร้างความสะดวกสบายและคุ่มค่าแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อธนาคารและแพลตฟอร์มการชำระเงินแบบบุคคลที่สามที่มีอยู่ในปัจจุบัน)
ตอนที่ 3 วัฏจักรของการเปลี่ยนแปลง (The Big Cycle)
ภาพจาก medium.datadriveninvestor.com
ย้อนเวลากลับไปล่าสุดที่มีการเปลี่ยนประเทศมหาอำนาจ ที่เป็นใหญ่ในสกุลเงินสำรอง(currency reserve) มีด้วยกันอยู่ 3 ประเทศ
- ประเทศเนเธอร์แลนด์
- ประเทศอังกฤษ
- ประเทศอเมริกา (ปัจจุบันเป็น currency reserve)
และก็ยังมีอาณาจักรสำคัญที่เปลี่ยนกันเป็นประเทศมหาอำนาจ อีก 6 แห่ง ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา (เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน) รวมทั้งราชวงศ์จีนที่สำคัญทั้งหมด ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังเมื่อประมาณปี 600 ปีที่ผ่านมา
รายละเอียด
ประเทศมหาอำนาจในแต่ละช่วงเวลา
ประเทศจีน (Chinese)เป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุค 600 ต่อมาก็มีการเปลี่ยนประเทศมหาอำนาจมาเป็นเนเธอร์แลนด์ (ดูตรงจุดตัดของกราฟ)
ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Dutch) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่ก็สามารถก้าวมาเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของโลกในช่วงยุค ค.ศ. 1600ก่อนที่จะมีการส่งถ่ายเปลี่ยนมือมาเป็น
ประเทศสหราชอาณาจักร (British) ในช่วงปี1800 และสามารถครองอำนาจไปได้จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 หากมองย้อนไปในช่วงยุค ค.ศ. 1700 จะพบว่าในยุคนั้นประเทศที่เริ่มเฟื่องฟูและมีอำนาจมากคือ ประเทศสหราชอาณาจักร อังกฤษ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่ก็ได้มีอาณานิคมกระจายอยู่นอกราชอาณาจักรเยอะแยะมากมาย จนได้ฉายาว่าเป็น ดินแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน (The sun never set in the British Empire) แต่แน่นอนว่าอาณาจักรที่รุ่งเรืองก็สามารถถูกแย่งชิงอำนาจไปได้ ถ้าหากมีรากฐานที่อ่อนแอ โดยวิกฤตที่จะสามารถทำลายอำนาจของอาณาจักรได้นั้นแบ่งได้เป็น วิกฤตทางเศรษฐกิจ, สงคราม และโรคระบาดต่อมาหลังสงครามโลก
ประเทศสหรัฐอเมริกา (US) ในช่วงปี ค.ศ. 1900 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นสู่การมาเป็นมหาอำนาจของโลกจนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา จะมีการเติบโตเริ่มช้าและลดต่ำลงต่อเนื่อง และในขณะเดียวกัน ประเทศจีน กลับมีการเติบโตที่เร่งสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
วัฏจักรของประเทศมหาอำนาจในอดีต
จากภาพด้านบนแสดงให้เห็นว่า การปฏิวัติและสงครามจะทำลายระบบของประเทศมหาอำนาจเดิม ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นของประเทศมหาอำนาจใหม่ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 20 ปี การเปลี่ยนแปลงใหม่แสดงโดยพื้นที่แรเงาในแผนภูมิ
หลังจากนั้นจะตามมาด้วยช่วงเวลาแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่ยาวนาน จะไม่มีประเทศใดต้องการต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจใหม่เพราะแข็งแกร่งเกินไป ซึ่งช่วงเวลาแห่งความสงบสุขจะใช้เวลาประมาณ 40 ถึง 80 ปี
8 ตัวชี้วัดที่ใช้ในการวัดว่าประเทศไหน คือ ประเทศมหาอำนาจ
- การศึกษา
- นวัตกรรมและเทคโนโลยี
- ความสามารถในการแข่งข้นกับตลาดโลก
- ผลผลิตทางเศรษฐกิจ
- ส่วนแบ่งทางการค้าของโลก
- ความเข้มแข็งทางการทหาร
- ความแข็งแกร่งในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
- ความแข็งแกร่งของสกุลเงินในฐานะเงินทุนสำรอง (reserve currency)
การทำงานของมันสอดคล้องกัน การศึกษาส่งผลให้เกิด นวัตกรรมและเทคโนโลยี นวัตกรรมนำไปสู่การแข่งขันในตลาดโลก เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะสามารถลงทุนพัฒนาผลผลิตสูงขึ้น การมีเทคโนโลยีใหม่ก็จะช่วยส่งเสริมกองทัพทหารให้มีความแข็งแกร่งเพื่อปกป้องเส้นทางการค้า
อย่างสหรัฐ ที่ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าสหรัฐมีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจและการทหาร ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีสกุลเงินเป็นสกุลเงินสำรองของโลก ย่อมทำให้สามารถกู้ยืมและใช้จ่ายมากขึ้น
ค่าเงินของประเทศที่มีร่ำรวยที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดจะกลายเป็นสกุลเงินสำรองของโลก ทำให้มีสิทธิพิเศษที่มากกว่าประเทศอื่น สามารถยืมเงินได้มากขึ้นเท่ากับเป็นหนี้มากขึ้น การมีหนี้มากเกินไปนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ระยะหนึ่งและอาจเป็นการเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วย แต่เมื่อประเทศที่ร่ำรวยเป็นหนี้สินจากการกู้ยืมจากประเทศที่จนกว่า จะเป็นสัญญาณแรกของการเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่ง
เช่นในปี 1980 เมื่อสหรัฐมีรายได้ต่อประชากรมากกว่าจีน 40 เท่า เริ่มกู้ยืมจากจีนเป็นสกุลเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับอังกฤษที่ยืมเงินจำนวนมากจากอาณานิคมที่ยากจน โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเนเธอร์แลนด์ก็ทำเช่นเดียวกัน ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนอำนาจของประเทศ
นับตั้งแต่ช่วงปี1700 โลกของเรามีสกุลเงินกว่า 750 ชนิด แต่ปัจจุบันสกุลเงินเหลืออยู่เพียง 20% เท่านั้น เนื่องจากการอ่อนค่าของเงิน จนสกุลเงินนั้นสุดท้ายกลายเป็นสิ่งไร้ค่า สาเหตุของการอ่อนค่าของเงินเริ่มต้นจากหนี้ เมื่อประเทศมีหนี้มากขึ้น เศรษฐกิจเริ่มไม่ดี ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ก็จะออกนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่เมื่อนโยบายนี้ยังไม่สามารถช่วยให้หลุดพ้นจากวิกฤตได้ สิ่งต่อมาที่ธนาคารกลางจะทำคือ การปรินท์เงินออกมา ซึ่งการปรินท์เงินนี้เอง ทำให้เกิดการอ่อนค่าของมูลค่า
สาเหตุของการเกิดหนี้มหาศาลในอดีตคงหนีไม่พ้นเรื่องการทำสงคราม เนื่องจากต้องใช้เงินอย่างมากในการสนับสนุนกองทัพ และประคองเศรษฐกิจที่ยากลำบากในขณะนั้น ประเทศที่แพ้สงคราม จะต้องเผชิญกับวิกฤตอย่างหนักของหนี้สิน ทำให้เกิดการพิมพ์เงินขึ้น และในที่สุดก็จะเกิดการลดค่าเงิน ทั้งนี้ประเทศที่เป็นฝ่ายชนะ ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน แต่อาจจะไม่ได้รุนแรงเท่ากับประเทศที่แพ้
ตอนที่ 4 ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรือง (The Rise: เกิดขึ้น)
The Rise: เกิดขึ้น (ช่วงหลังจากชนะสงคราม กลายเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง) ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ ซึ่งมาจากมีจุดแข็งทางด้านการศึกษา มีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง ความเข้มแข็งทางลักษณะเฉพาะ การมีระบบการแจกจ่ายทรัพยากรที่ดี มีสังคมที่เปิดกว้าง มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้มีรายได้ที่สูงขึ้น ทำให้ลงทุนได้มากขึ้น ทำให้มีผลผลิตมากขึ้น และทำให้สามารถสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้มีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงขึ้น และต้องมีการทหารที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ มีศูนย์กลางทางการเงินที่ดึงดูดเงินลงทุน ช่วยทำให้เงินสกุลของตัวเองเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
ตอนที่ 5 ช่วงเวลาดำรงอยู่ (The Top: ตั้งอยู่)
The Top: ตั้งอยู่ ช่วงที่ประเทศไปสู่จุดสูงสุด ช่วงตอนรุ่งเรือง คนในประเทศก็มักจะร่ำรวยขึ้น ก็นำพาตัวเองไปให้แพงขึ้น และเมื่อตัวเองแพงขึ้น ก็มักจะแข่งขันน้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่หลายๆคนพร้อมจะทำงานเยอะกว่าเพื่อแลกผลตอบแทนที่น้อยกว่า คนที่รวยขึ้นมักจะใช้เวลาเพื่อการพักผ่อนมากขึ้น และเมื่อสกุลเงินของตัวเองกลายเป็นสกุลเงินสำรองของโลกไปด้วยก็ยิ่งทำให้ประเทศนั้นสามารถกู้ยืมเงินได้มากขึ้นทำให้มีอำนาจใช้จ่ายมากขึ้นในระยะสั้นแต่ว่าจะทำให้อ่อนลงในระยะยาว และความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจของประเทศก็มักจะมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่มากขึ้น
ตอนที่ 6 ช่วงเวลาแห่งความเสื่อมสลาย (The Decline:ดับไป)
The Decline: ดับไป ช่วงสุดท้ายคือช่วงเริ่มเสื่อมหรือถดถอยลง ผู้นำไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อประเทศมีหนี้มากขึ้น เมื่อธนาคารกลางไม่สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้แล้ว และเมื่อเกิดเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ มีการปรินท์เงินออกมามากขึ้นและสุดท้ายก็ทำให้ค่าเงินต้องลดลง และเมื่อช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้น ก็เริ่มมีความตีงเครียดมากขึ้นและนำไปสู่นโยบายประชานิยมทางการเมือง และเมื่อเหล่าคนรวยนั้นกลัวว่าเงินของตัวเองจะถูกแย่งชิงไป ก็จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นย้ายเงินของตัวเองไปยังสินทรัพย์หรือสถานที่หรือสกุลเงินที่ดูแล้วปลอดภัยกว่าเพื่อให้พวกเขาอุ่นใจ
เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะทำให้ผลผลิตของประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง และมีข้อขัดแย้งมากขึ้นในการนำทรัพยากรของประเทศไปใช้ และยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งภายในมากขึ้นไปอีก เมื่อประเทศกำลังอ่อนแอลง การมีปัจจัยจากภายนอกมากระทบอย่างเช่นภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือโรคระบาด
ตอนที่ 7 ทำนายอนาคตจากอดีตที่ผ่านมา (The Future)
ประเทศสหรัฐจะสามารถครองตำแหน่งเป็นชาติมหาอำนาจได้นานสักแค่ไหน ก็ต้องดูที่ตัวชี้วัด 7 ข้อนี้
- ความสามารถในการเป็นผู้นำของผู้บริหาร
- ระดับการศึกษาของคนในประเทศ
- ความมุ่งมั่นของคนในประเทศ การมีเป้าหมายและแรงตั้งใจ
- กฎระเบียบกฎหมายที่มีความเข้มแข็งมีประโยชน์ในการสร้างความเป็นระเบียบ
- ปริมาณการคอรัปชั่นที่พบมีในประเทศ
- ประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างเหมาะสมหรือไม่
- การเปิดกว้างสู่การคิดเสรีภาพในการใช้ชีวิต ที่มีมาตรฐานในระดับโลก
ประเทศที่จะเป็นมหาอำนาจได้นั้น จะต้องเป็นประเทศมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีหนี้สินที่ค่อนข้างต่ำ ช่องว่างระหว่างชนชั้นน้อย คนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง มีการศึกษาดี ผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ และโลกที่สงบสุข
Ray Dalio ได้พูดส่งท้ายให้ทุกคนว่า
“ถ้าอยากจะอยู่รอดให้ได้ทุกๆสถาณการณ์ ต้องหาเงินให้ได้มากกว่าที่ใช้จ่ายออกไป”
Source
- https://www.youtube.com/watch?v=xguam0TKMw8
- https://achievement.org/achiever/ray-dalio/#biography
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ray_Dalio
- https://www.linkedin.com/pulse/chapter-1-big-picture-tiny-nutshell-ray-dalio
Author: