FED คืออะไร ทำไมเทรดเดอร์ Forex ต้องรู้จัก?

เรื่องJirayuJeerapat

FED คืออะไร

FED คืออะไร ทำไมเทรดเดอร์ Forex ต้องรู้จัก? เริ่มต้นทำความรู้จักกับ FED เพื่อที่คุณจะได้ไม่พลาดโอกาสในการเทรดอย่างมีประสิทธิภาพ มาร่วมเปิดมุมมองขยายการวิเคราะห์ให้กว้างขึ้นด้วยการติดตามข่าวจาก FED

 

FED คืออะไร ทำไมเทรดเดอร์ Forex ต้องรู้จัก

นักลงทุนมือใหม่ที่กำลังเริ่มต้นศึกษาการลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ (Forex) คงมีอยู่หลายคนไม่น้อยที่เคยได้ยินคำว่า “ เฟด (Fed)” และในบางครั้งคุณอาจจะเคยเห็นผ่านตาจากสื่อออนไลน์ต่างๆ มาบ้างไม่มากก็น้อย ชื่อปริศนาที่คุณได้ยินมานี้จริง ๆ แล้วคือตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการวิเคราะห์ราคาในตลาด Forex เป็นอย่างยิ่ง

 

การศึกษาทำความเข้าใจ Fed จะทำให้นักลงทุนทุกท่านสามารถเข้าใจภาพรวมของตลาดได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอย่างเช่น การประกาศข่าวปรับอัตราดอกเบี้ย ก็จะทำให้คุณสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าควรวางแผนการเทรดอย่างไร 

 

Fed เป็นผู้มีอิทธิพลต่อราคาของสินทรัพย์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ทองคำ น้ำมัน สกุลเงิน ฯลฯ ซึ่งถ้าหากคุณต้องการมีความเข้าใจในภาพรวมของตลาดมากยิ่งขึ้น เรามีความเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจเป็นอย่างยิ่งว่า การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Fed จะช่วยเพิ่มทักษะและความสามารถในการวิเคราะห์แก่คุณอย่างแน่นอน

 

FED คืออะไร

FED (federal reserve) หรือที่นักลงทุนชาวไทยเรียกสั้น ๆ ว่า “เฟด” คือ ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมระบบการเงินของสหรัฐอเมริกา โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่านโยบายทางการเงินเป็นตัวขับเคลื่อนให้สภาวะทางการเงินมีความเสถียรภาพ 

 

หน้าที่หลักของเฟดจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการระบบการเงินให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และสามารถยืดหยุ่นได้ในบางสถานการณ์ ซึ่งมีอำนาจในการกำกับดูแลสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยได้รับอำนาจจากรัฐบาลในการออกมาตรการทางการเงินหรือนโยบายต่างๆเมื่อประเทศพบกับสภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืด

 

เพื่อให้เศรษฐกิจยังคงสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เฟดจึงต้องคอยติดตามภาพรวมของระบบการเงินและคอยกำกับดูแลให้มีความมั่นคงอยู่ตลอดเวลา เปรียบเสมือนการทำงานตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยไป ซึ่งการใช้นโยบายทางการเงินแต่ละครั้งของเฟดย่อมมาพร้อมกับผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์หลายชนิด

 

การที่สกุลเงินดอลลาร์ (USD) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน นั่นหมายความว่าสินทรัพย์ต่างๆทั่วโลกสามารถรับชำระเป็นสกุลเงินดอลลาร์ได้ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่สกุลเงินดอลลาร์เกิดความผันผวนทางราคา ก็จะทำให้สินทรัพย์ต่างๆเหล่านั้นมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับราคาที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

 

FED มีความสำคัญอย่างไรต่อเทรดเดอร์ Forex

การลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ (Forex) โดยส่วนใหญ่จะมีคู่สกุลเงินที่นิยมเทรดอยู่ 7 คู่สกุล หรือที่นักลงทุนเรียกว่าคู่สกุลเงินหลัก ซึ่งประกอบไปด้วยสกุลเงินดังนี้

  • EUR/USD : ยูโร/ดอลลาร์สหรัฐ
  • USD/JPY : ดอลลาร์/เยน
  • GBP/USD : ปอนด์/ดอลลาร์สหรัฐ
  • AUD/USD : ดอลลาร์ออสเตรเลีย/ดอลลาร์สหรัฐ
  • USD/CHF : ดอลลาร์สหรัฐ/ฟรังก์สวิส
  • USD/CAD : ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์แคนาดา
  • NZD/USD :  ดอลลาร์นิวซีเลนด์/ดอลลาร์สหรัฐ

หากทุกท่านลองสังเกตจากรายการคู่สกุลเงินข้างต้นจะเห็นว่า ทุกคู่สกุลเงินล้วนมีดอลลาร์สหรัฐ (USD) มาเกี่ยวข้อง นั่นหมายความว่าถ้าหากสกุลเงินดอลลาร์เกิดมีความ แข็งค่าหรืออ่อนค่า สกุลเงินอ้างอิงที่จับคู่กับดอลลาร์ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

 

จากที่เราได้อธิบายไปในหัวข้อข้างตนว่า FED คือ ผู้มีอำนาจในการควบคุมระบบการเงินของสหรัฐ โดยการออกนโยบายทางการเงินหรือการปรับอัตราดอกเบี้ย นั่นหมายความว่าสกุลเงินดอลลาร์จะมีความแข็งค่าหรืออ่อนค่าล้วนมีผลกระทบมาจากนโยบายทางการเงินของ FED ทั้งสิ้น

 

ในปัจจุบันตลาด Forex ไม่ได้มีเพียงตัวเลือกการลงทุนในตลาดเงินตราต่างประเทศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เทรดเดอร์ยังสามารถมองหาตัวเลือกการลงทุนอื่นๆได้อีกด้วยเช่น ทองคำ, น้ำมัน, คริปโตเคอเรนซี ฯลฯ ซึ่งทุกสินทรัพย์ที่กล่าวมานี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกันกับ FED และจะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรโปรดติดตาม

 

FED กับราคาน้ำมัน

น้ำมันถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์โภคภัณฑ์ที่นักลงทุนนิยมเทรดในตลาดฟอเร็กซ์ ซึ่งมีหน่วยการซื้อขายเป็นดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปกติการที่จะสามารถวิเคราะห์ราคาน้ำมันได้นั้น ผู้ลงทุนจะต้องมีความเข้าใจในปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์โภคภัณฑ์ประเภทนี้เสียก่อน

 

ราคาน้ำมันมีปัจจัยเกี่ยวข้องที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความต้องการน้ำมันขั้นพื้นฐาน หรือกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนเล็งเห็นและให้ความสำคัญก็คือ ผลรวมของต้นทุนราคาน้ำมัน โดยการใช้สกุลดอลลาร์เป็นตัวเปรียบเทียบ

 

บ่อยครั้ง “น้ำมัน” จะมีการปรับระดับราคาสูงขึ้นเมื่อเกิดสภาวะเงินเฟ้อ และเพื่อชะรอความร้อนแรงการเติบโตทางเศรษฐกิจ เฟดจึงต้องทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง เนื่องจากมีต้นทุนการทำสัญญาน้ำมันที่สูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้าหากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

อุปสงค์น้ำมันก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนทางการเงินถูกลงส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

 

FED กับราคาทองคำ

นักลงทุนที่เลือก “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์คู่ใจในการเข้าเทรดเพื่อทำกำไร การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และควรทำควบคู่กับการวิเคราะห์เชิงเทคนิค (technical analysis) อย่างรอบครอบ โดยพื้นฐานราคาของทองคำจะได้รับอิทธิพลมาจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

 

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า “ทองคำ” ถูกจัดเป็นสินทรัพย์ปลอด (safe haven) กล่าวคือ มีความผันผวนต่ำ มีมูลค่าในตัวเอง และมูลค่าไม่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ดังนั้นทองคำจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสภาวะเงินเฟ้อ ทีนี้เราก็ต้องมาดูว่า Fed จะเคลื่อนไหวอย่างไรเมื่อเกิดสภาวะทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ 

 

ในกรณีที่เกิดสภาวะเงินเฟ้อ Fed จะทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทองคำมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่ทั้งหมดเราที่กล่าวมานี้ก็ไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะ “ดอกเบี้ย” ที่เราเห็นนั้นไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate)

ข้อควรระวัง** หากจะวิเคราะห์ราคาทองคำจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed นักลงทุนจำเป็นต้องมองอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ให้ออก

 

สูตรการหาดอกเบี้ยที่แท้จริงคือ

ดอกเบี้ยที่แท้จริง = ดอกเบี้ยที่ Fed ระบุ – อัตราเงินเฟ้อ

 

ยกตัวอย่าง: เมื่อเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 1 % แต่อัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 2% นั่นหมายความว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับ -1% เราสามารถตีความได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยกรณีนี้จะไม่ส่งผลต่อราคาทองคำ และอาจส่งผลให้ราคาทองยังคงเพิ่มสูงขึ้น

สรุป: ราคาทองคำมีผลกระทบโดยตรงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งถ้าหากดอกเบี้ยที่แท้จริง “เป็นลบ” หมายความว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ของ Fed ไม่มีผลต่อการลดลงของราคาทองคำ แต่ถ้าหากดอกเบี้ยที่แท้จริง “เป็นบวก” นั่นหมายความว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้มีผลทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มลดลง

 

FED กับคู่สกุลเงิน

ในตลาดฟอเร็กซ์คู่สกุลเงินที่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่ให้ความสนใจก็คือ คู่สกุลหลัก (Major Currency) หรือก็คือคู่สกุลเงินที่มีดอลลาร์สหรัฐ (USD) นั่นเอง และโดยพื้นฐานของการลงทุนในคู่สกุลเงินหลักนั้น นักลงทุนสายเทคนิคแต่ละท่านก็จะมีกลยุทธ์การเข้าเทรดที่แตกต่างกัน 

 

แต่หนึ่งสิ่งที่นักลงทุนฟอเร็กซ์ต่างก็ต้องมีเหมือนกันคือ ความสามารถในการวิเคราะห์ข่าว หรือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน อย่างเช่นการติดตามประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยจาก Fed ซึ่งเปรียบเสมือนคู่หูของเทรดเดอร์ฟอเร็กซ์เลยก็ว่าได้

 

นโยบายทางการเงินหรือการปรับอัตราดอกเบี้ยที่เฟด (Fed) เป็นผู้ประกาศ ถือเป็นข่าวสำคัญที่เทรดเดอร์

หลายท่านต่างจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความผันผวนของคู่เงินที่มีดอลลาร์ (USD) เป็นอย่างมาก และด้วยการที่หลายๆประเทศทั่วโลกล้วนมีการดำเนินธุรกิจเชื่อมโยงกับสหรัฐอเมริกา มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คู่เงินสกุลหลักเหล่านั้นจะเกิดความผันผวนอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

หลักการวิเคราะห์คือ เมื่อเฟดมีการประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้นักลงทุนสามารถสันนิษฐานได้เลยว่าค่าเงินดอลลาร์ (USD) มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น และทำให้สกุลเงินอ้างอิง (quote currency) มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ในทางกลับกันถ้าหากเฟดประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ก็จะมีแนวโน้มอ่อนค่า และสกุลเงินอ้างอิงก็จะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นนั่นเอง

 

FED กับคริปโตเคอเรนซี

 ในส่วนของสกุลเงินคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) แต่เดิมถูกมองว่าอาจเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ เนื่องจากมีปริมาณจำกัดและมีการใช้หลักการเผาเหรียญ (Coin Burning) เพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้หลักการวิเคราะห์แบบเก่าเชื่อว่าต่อให้เฟดประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยคริปโตเคอเรนซีก็ยังคงมีระดับราคาที่สูงขึ้น

 

แต่หลังจากเหตุการณ์สะเทือนวงการคริปโตเคอเรนซีอย่าง การล่มสลายของ LUNA ซึ่งเคยเป็นเหรียญ 1 ใน 10 อันดับ ที่มีการซื้อขายมากที่สุดในตลาดคริปโต ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนมองว่าสกุลเงินคริปโตเคอเรนซีนั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงและถูกมองว่าเป็นการลงทุนประเภทเก็งกำไรเป็นส่วนใหญ่

 

ดังนั้นกรณีที่เฟดมีการประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สกุลเงินคริปโตเคอเรนซีก็มีแนวโน้มที่จะปรับระดับราคาลง เนื่องจากนักลงทุนมองว่าคงไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ที่จะถือสินทรัพย์เสี่ยงในสภาวะที่การลงทุนประเภทอื่นก็ให้ผลตอบแทนสูงเช่นเดียวกัน ในทางกลับกันถ้าหากเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยการลงทุนในคริปโตเคอเรนซีก็จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่าการลงทุนในท้องตลาด

 

บทสรุป

ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาให้มีความ มั่นคง ปลอดภัย โดยมีเครื่องมือในการควบคุมระบบการเงินคือ “นโยบายการเงิน” ซึ่งมีอำนาจในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

การติดตามรายงานการประชุมของ Fed ที่เรียกว่า FOMC ในแต่ละครั้งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการปรับตัวของระดับราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน, สกุลเงิน, ทองคำ, คริปโตเคอเรนซี ฯลฯ ซึ่งการติดตามรายงานดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์แนวโน้มราคาในอนาคตได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

Ref:

FED & Crypto https://www.set.or.th/th/home

 

รายงานการประชุม fed กับราคาน้ำมัน

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88/177037

 

สูตรการหา Real interest rate https://www2.set.or.th/set/financialplanning/glossary.do?contentId=17