Forex เป็นแชร์ลูกโซ่ หรือไม่? ไขทุกคำตอบ ที่เทรดเดอร์มือใหม่หลายคนอาจสงสัย ว่า Forex คือแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เพราะทุกวันนี้เราได้ยินข่าว โกง Forex มาจำนานมาก จนอาจจะทำให้ใครสับสนได้
ตัวอย่าง ข่าวฉ้อโกง Forex
- 30นักลงทุนแจ้งจับ เพจตุ๋นเงินกองทุนforex สูญกว่า1,000ล้าน อ้างปิดปรับปรุงชั่วคราว แต่ไม่เปิดอีกเลย
- ผู้เสียหายโร่แจ้งความ ถูกสาวแสบโกงเล่นหุ้น Forex สูญเงินราว 14 ล้านบาท
- จับสองผู้ต้องหาเปิดบริษัทลวงลงทุนอัตราแลกเปลี่ยน
- ดีเอสไอบุกค้นบ้านนายแพทย์ แม่ทีมแชร์ลูกโซ่คอร์สสัมมนา ลงทุนฟอเร็กซ์ ภรรยาร่ำไห้ ย้ำบริสุทธิ์ใจ โดนตุ๋นเหมือนกัน
- Forex-3Dโกง 4 หมื่นล้าน
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างการโกง Forex ในประเทศไทยเพียงแค่นั้น ยังมีการโกงหลักแสนหรือล้านต้นๆ อีกมากมาย ที่ไม่ได้เป็นข่าวดัง เรียกได้ว่า ข่าวโกง Forex มีขึ้นเกือบทุกปีและมีผู้เสียหายเกิดขึ้นจำนวนไม่น้อยอยู่ทุกครั้ง
Forex คืออะไร
ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักว่า Forex เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่? เราควรมาทำความรู้จักก่อนว่า Forex คืออะไร
Forex Market มีชื่อเต็มว่า Foreign Exchange Market คือ ตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ทุกอย่างที่มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศคือ ตลาด Forex
คำถาม ถ้าเป็นบิทคอยน์ (Bitcoin) ถือว่าเป็นตลาด Forex หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ เพราะ บิทคอยน์ (Bitcoin) ไม่ใช่สกุลเงินระหว่างประเทศ แต่เป็น Cryptocurrency (สกุลเงินเข้ารหัส) หรือสกุลเงินดิจิทัลนั่นเอง ไม่ใช่สกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง
คำถาม หุ้น ถือว่าเป็น Forex หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ เพราะหุ้น คือ หุ้นส่วนของบริษัท หรือความเป็นเจ้าของของบริษัทหรือธุรกิจนั้นๆ ไม่เกี่ยวกับข้องกับ Forex ทางตรง และตลาด หุ้น ไม่ใช่ ตลาด Forex
2 คำถามนี้ ที่ผมต้องอธิบายก่อนเข้าสู่เนื้อหา เนื่องจากว่ามีหลายคนเข้าใจผิดว่า Forex คือ Bitcoin หลายคนเข้าใจผิดว่า หุ้น คือ Forex ผมอยากพาผู้อ่าน ทำความเข้าใจในส่วนนี้ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลักของเรา
หากสรุปแบบง่ายๆ Forex คือ ตลาดที่มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศ โดยสกุลเงินนั้นจะต้องออกโดยรัฐบาล เช่น USD ดอลลาร์สหรัฐ, THB เงินบาทไทย เป็นต้น
ถ้าจะบอกว่า เราเกือบทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับตลาด Forex โดยไม่รู้ตัว ก็คงไม่ผิด เพราะหลายๆ การกระทำของเรามีผลต่อ ตลาด Forex ตัวอย่างเช่น
- แลกเงินไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็น ตลาด Forex เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยน ระหว่างสกุลเงินบาท (THB) และ สกุลเงินเยน (JPY)
- ทำการซื้อโทรศัพท์ iPhone ก็ถือว่าเป็น Forex เนื่องจากเงินที่เราจ่ายไป จะถูกส่งกลับไปยังตัวบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา สกุลเงินบาท (THB) เปลี่ยนเป็น สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) แม้จะไม่เกี่ยวกับตลาด Forex ตรงๆ ก็ยังถือว่าเรามีส่วนร่วมในตลาด Forex ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างประเทศเกิดขึ้น
การเก็งกำไรในตลาด Forex
- คู่เงิน USD/THB = 32.78
- หมายความว่า 1 USD (ดอลลาร์สหรัฐ) มีค่าเท่ากับ 32.78 THB (บาท)
- นำเงิน 3,278,000 บาท (THB) ไปซื้อคู่เงิน USD/THB
- จะทำให้ได้เงินมา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD)
- เวลาผ่านไป USD/THB = 33.50
- นำเงินที่แลกมาก่อนหน้านี้ 3,278,000 บาท (THB) มาแลกกลับคืน
- จะทำให้ได้รับเงิน 3,350,000 บาท (THB)
- เนื่องจาก 1 USD (ดอลลาร์สหรัฐ) มีค่าเท่ากับ 33.5 THB (บาท) ในัปัจจุบัน
- ทำให้ได้รับกำไรมาจากการซื้อขาย Forex 72,000 บาท
- เป็นการทำกำไรจากการผันผวนของราคา
ในตลาด Forex หลายคนอาจจะแย้งว่า ถ้าทุนไม่ได้เยอะขนาดในตัวอย่างล่ะ ไม่ได้มีเงินเก็งกำไรถึง 3 ล้านบาท จะทำกำไรหลักหมื่นหลักแสนได้อย่างไร เนื่องจากว่า ในตลาด Forex เรามีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Leverage Forex คือตัวที่ทำให้เรามีอำนาจในการซื้อขายมากกว่าเงินจริงที่เรามี
ถ้าเลือก Leverage 1:1,000 หมายความว่า มีเงิน 3,000 บาท แต่เราสามารถซื้อขายได้มูลค่า 3,000*1,000 = 3,000,000 บาท เห็นไหมว่า ไม่ต้องมีเงินถึง 3 ล้านบาท เราก็สามารถซื้อขายหลัก 3 ล้านบาทได้แล้วถ้าเลือก Leverage Forex ในอัตราที่เหมาะสม
อ่านต่อได้ที่
จากความหมายของตลาด Forex ที่ผมได้กล่าวมาเรียกได้ว่า ไม่มีเนื้อหาใดที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่เลยแม้แต่น้อย ทีนี้เรามาทำความรู้จักแชร์ลูกโซ่ดีกว่า อาจจะทำให้เรามองเห็นภาพรวมได้กว้างมากยิ่งขึ้น
แชร์ลูกโซ่ คืออะไร
แชร์ลูกโซ่ คือ วิธีการหลอกลวงวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มมิจฉาชีพ สาเหตุที่ชื่อว่า แชร์ลูกโซ่ ก็เพราะว่าธุรกิจที่มิจฉาชีพออกแบบขึ้นมาจะมีการเยื่อมโยงกันในลักษณะแบบ ลูกโซ่ เช่น ถ้าเราสมัครทำรายได้กับบริษัทนี้ เราจะต้องไปชวนคนรู้จักมาทำด้วย คนที่เราชวนมาทำด้วย เขาก็ต้องไปชวนคนอื่นต่อ จะเชื่อมต่อกันในลักษณะเป็นลูกโซ่ เป็นต้น
การทำงานของแชร์ลูกโซ่
แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจ แต่มีรายได้จากค่าสมัครสมาชิกและเงินลงทุนของสมาชิก
ตัวอย่าง เราลงทุนกับบริษัทหนึ่ง เป็นเงินลงทุน 30,000 บาท บริษัทจะจ่ายปันผลให้เราทุกเดือน เดือนละ 10% ตกเดือนละ 3,000 บาท แต่บริษัทแจ้งว่า เราจะต้องหาคนมาสมัครต่อเราจำนวน 2 คนเพื่อให้มีรายได้มากยิ่งขึ้น
จากตัวอย่างข้างบน ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ไม่ได้เอาเงิน 30,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อการลงทุน แต่เขาจะนำเงิน 30,000 บาทของเรา ไปจ่ายให้กับคนที่มาสมัครก่อนเรา และเงินปันผลที่เราได้เดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน มาจากเงินลงทุนของคนที่สมัครหลังเรานั้นเอง ไม่ได้มาจากผลประกอบการของการลงทุน และระบบแชร์ลูกโซ่จะลุกลามแบบนี้ไปเรื่อยๆ
จนกว่ากลุ่มมิจฉาชีพจะรู้สึกว่าเริ่มอิ่มตัว และจะเริ่มไม่จ่ายปันผล สุดท้ายกลุ่มมิจฉาชีพก็จะปิดบริษัทหายไป พร้อมหอบเงินลงทุนของนักลงทุนหายไป จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ลุกช้าจ่ายรอบวง’
Forex เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่?
สรุปแล้ว Forex เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่? จากที่ผมได้อธิบายความหมายของตลาด Forex และความหมายของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ จะเห็นได้ว่า Forex และ แชร์ลูกโซ่มีความหมายไม่ได้ใกล้เคียงกันเลยแม้แต่นิดเดียว แต่หลายคนอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจผิดเพราะธุรกิจแชร์ลูกโซ่มักจะหยิบ Forex มาบังหน้า โดยอ้างว่าเป็นการระดมทุนเอาเงินไปลงทุนในตลาด Forex นั่นเอง
ไม่ใช่แค่ตลาด Forex ที่ตกเป็นแพะรับบาป เพราะกลุ่มมิจฉาชีพหยิบยกมา แต่กลุ่มมิจฉาชีพจะหยิบทุกอย่างที่กำลังเป็นที่นิยมมาอ้างในการระดมทุน
- ในยุคหนึ่ง Startup มาแรง กลุ่มมิจฉาชีพก็มีการหยิบ Startup มาอ้างในการระดมทุนทำแชร์ลูกโซ่
- ในปี 2018 Bitcoin มาแรง กลุ่มมิจฉาชีพก็มีการหยิบ Bitcoin มาอ้างในการระดมทุนทำแชร์ลูกโซ่
- ในยุคหนึ่งตลาด Forex มาแรง กลุ่มมิจฉาชีพก็มีการหยิบ Forex มาอ้างในการระดมทุนทำแชร์ลูกโซ่
- ในยุคหนึ่งทองคำมาแรง กลุ่มมิจฉาชีพก็มีการหยิบเอาทองคำ มาอ้างในการระดมทุนทำแชร์ลูกโซ่
- ในยุคหนึ่ง การท่องเที่ยวต่างประเทศมาแรง กลุ่มมิจฉาชีพก็มีการหยิบ การท่องเที่ยวต่างประเทศ มาอ้างในการระดมทุนทำแชร์ลูกโซ่
เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นตลาด Forex, Bitcoin, ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ Startup กลุ่มมิจฉาชีพสามารถหยิบเอาสิ่งเหล่านี้มาแอบอ้างได้ทั้งสิ้น สิ่งที่เราควรทำความเข้าใจคือ ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่อ้างมานั้น เขาเอาเงินไปลงทุนอย่างไร มีแผนดำเนินการอย่างไร อีก 1-2 ปีบริษัทจะมีแผนการอย่างไร
และผลตอบแทนจากเงินลงทุนของเราจะได้กลับมาอย่างไร แน่นอนว่าถ้าบริษัทนั้นตอบคำถามนี้ไม่ได้ มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่
รูปแบบ แชร์ลูกโซ่
แชร์ลูกโซ่ เป็นลักษณะของการหลอกลวงสำหรับกลุ่มมิจฉาชีพที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่า 20 ปีแล้ว และมีรูปแบบการหลอกลวงไม่แตกต่างกันเลย อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยให้เข้ากับยุคสมัย เช่น ถ้ายุคนั้น Startup มาแรง ก็จะมีแชร์ลูกโซ่ Startup ขึ้น ถ้ายุคนั้น Bitcoin มาแรงก็จะมีแชร์ลูกโซ่ขึ้นมา เป็นต้น
แต่โดยรวมแล้ว รูปแบบการหลอกลวงไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก
1. เริ่มต้นสร้างภาพลักษณ์
ในช่วงเริ่มต้นการทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ กลุ่มมิจฉาชีพจะยังไม่เน้นการขายสักเท่าไหร่ จะไม่เน้นการเชิญชวนลงทุนสักเท่าไหร่ แต่จะเน้นการสร้างภาพลักษณ์ตัวเองให้ดูดี ถ่ายรูปอาหารมื้อหรู ถ่ายรูปคู่กับนาฬิกาเรือนละล้าน ถ่ายรูปกับรถหรู ถ่ายรูปบนเรือยอร์ช เพื่อโพสต์ลงบนโลกโชเซียล เป็นการสร้างภาพลักษณ์ความสามารถในการสร้างรายได้มหาศาล และอาจจะทำให้หลายคนสนใจในตัวเขา
2. เริ่มชักชวนในการลงทุน
เมื่อสร้างภาพลักษณ์ให้น่าสนใจได้สำเร็จ สิ่งที่กลุ่มมิจฉาชีพจะทำต่อมา คือ ชักชวนการลงทุน ด้วยคำโฆษณายอดฮิต เช่น ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง และการันตีผลตอบแทนทุกเดือน เป็นต้น จนทำให้หลายคนหลงเชื่อว่านี่คือ โอกาสและเริ่มสนใจที่จะลงทุนด้วย
3. สร้างภาพลักษณ์ด้วยคนมีเชื่อเสียง
เมื่อสามารถหาลูกค้าได้ระยะหนึ่ง กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จะพยายามหาผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง มาเป็นพรีเซ็นเตอร์บ้าง มารีวิวผลการลงทุนบ้าง หรือมีการจัดงานสัมมนาใหญ่โตเชิญคนมีชื่อเสียงมาเป็นแขกรับเชิญ ยิ่งเป็นการตอกย้ำเพิ่มความน่าเชื่อถือ
4. จ่ายเงินปันผลตามตกลง
ระยะนี้เป็นระยะที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากที่สุด เพราะเมื่อบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลตามที่ตกลงไว้ จะเกิดความเสียหาย 2 รูปแบบ
- คนที่เคยลงทุน จะลงทุนมากขึ้น เพราะมั่นใจว่าได้เงินแล้ว
- คนที่เคยลงทุน จะเชิญชวนคนอื่นอย่างเต็มใจ พร้อมโชว์ตัวเลขเงินปันผลที่ได้รับ จะทำให้การชักชวนง่ายดายมากยิ่งขึ้น
จากกรณีนี้ ทำให้แชร์ลูกโซ่ขยายกว้างอย่างรวดเร็ว เพราะหลายคนที่เคยลงทุนมักจะลงทุนเพิ่ม เพราะคิดว่าการลงทุนง่ายกว่าที่คิดและได้กำไรจากเงินปันผลจริง
5. อิ่มตัว การจ่ายเงินมีสะดุด
ระยะนี้เป็นระยะอิ่มตัวของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เพราะการจ่ายเงินเริ่มมีสะดุดแล้ว นักลงทุนอาจจะถอนเงินไม่ได้หรือบริษัทบ่ายเบี่ยงขอเลื่อนการถอนเงิน และช่วงนี้บริษัทจะแจ้งนักลงทุนทุกๆคนว่า “ระบบอาจจะมีปัญหาเล็กน้อย แต่ผู้ลงทุนจงมั่นใจในตัวบริษัทได้”
ระยะนี้เริ่มจะมีการแฉบริษัทและจะมีผู้ปกป้องบริษัท เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ
6. ปิดบริษัท
ระยะปิดบริษัทเป็นระยะสุดท้ายของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ คนที่เข้ามาในช่วงแรกที่เปิดบริษัทอาจจะได้เงินปันผลครบหมดแล้ว แต่คนที่เข้ามาทีหลังอาจจะยังไม่ได้ถอนเงินปันผลเลย นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “ลุกช้าจ่ายรอบวง”
และในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มีคดีความเกิดขึ้น มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นตามที่เรามักได้เห็นกันในข่าว
สังเกตุ แชร์ลูกโซ่ ได้ไม่ยาก
1. เปิดระดมทุน
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่สามารถสังเกตุได้ไม่ยาก เพราะจากอดีตที่ผ่านมากว่า 20 ปี ธุรกิจแชร์ลูกโซ่จะมีการทำงานรูปแบบคล้ายคลึงกันมาก โดยในอันดับแรกบริษัทจะมีการเปิดรับระดมทุนแก่สาธารณะชน เปิดให้บุคคลทั่วไปมาร่วมลงทุน โดยอ้างว่า ระดมทุนลงทุนในตลาด Forex ระดมทุนลงทุนใน Bitcoin ระดมทุนลงทุนในทองคำ หาก ณ ตอนนั้น มีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นกลุ่มมิจฉาชีพจะหยิบชื่อนั้นมาอ้างในการทำแชร์ลูกโซ่
2. ผลตอบแทนสูงมาก ความเสี่ยงเป็น 0
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่มักจะอ้างผลตอบแทนที่สูงมาก โดยปกติจะให้เงินปันผลเฉลี่ย เดือนละ 10-30% ต่อเดือน บนความเสี่ยงที่ต่ำมาก บางครั้งอาจจะมีการการันตีผลตอบแทน เพื่อดึงดูดความสนใจแก่นักลงทุน
3. ตรวจสอบการเงินไม่ได้
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่เป็นธุรกิจที่ไม่โปร่งสัย ไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าบริษัทเอาเงินไปลงทุนเท่าไหร่ ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าบริษัทมีกำไรขาดทุนเท่าไหร่
4. รายได้บริษัทไม่ได้มาจากการทำงาน การลงทุน
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีรายได้จากผลประกอบการ ไม่ได้มีรายได้จากการทำงานการลงทุน ตัวอย่าง บริษัท Toyota มีรายได้จากการขายรถ เป็นต้น แต่รายได้จากบริษัทแชร์ลูกโซ่มาจากเงินลงทุนของนักลงทุน แต่บริษัทไม่ได้เอาเงินจำนวนนี้ไปลงทุนจริง แต่เอาเงินจำนวนนี้ไปจ่ายให้กับคนอื่นๆ
5. มีการเร่งรัดให้เราตัดสินใจลงทุน
โดยปกติแล้ว บริษัทแชร์ลูกโซ่จะเร่งรัดให้นักลงทุนรีบตัดสินใจในการลงทุน เพื่อไม่ให้นักลงทุนใช้เหตุผลในการตัดสนใจในการลงทุนมากนัก เพราะถ้ายิ่งใช้เหตุผลในการลงทุนมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะไม่ลงทุนก็สูงมากขึ้นเท่าไหร่ เพราะถ้าใช้เหตุผลดีๆ เราจะไม่เห็นความเป็นไปได้ของผลตอบแทนที่บริษัทแชร์ลูกโซ่กล่าวอ้างเลย
Author: