แชร์ลูกโซ่ คืออะไร? รู้ไว้ไม่โดนหลอก การทำงานของ แชร์ลูกโซ่

เรื่องPatihanUhas

แชร์ลูกโซ่

แชร์ลูกโซ่ คืออะไร รู้ไว้ไม่โดนหลอก การทำงานของ แชร์ลูกโซ่ มันทำงานอย่างไร ทำไมถึงมีหลายคนตกเป็นเหยื่อ ในทุกยุค ทุกสมัย

 

 

แชร์ลูกโซ่ คืออะไร

แชร์ลูกโซ่ คือ การหลอกลวงระดมเงินจากประชาชนที่ทำกันเป็นเครือข่าย โดยโฆษณา จูงใจว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทั่วไป แชร์ลูกโซ่มักแอบแฝงมากับธุรกิจขายตรง หรือการชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรมาก และจะหาสมาชิกใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อหมุนเงิน ค่าสมัครมาจ่ายผลตอบแทนให้สมาชิกเดิม

 

**แชร์ลูกโซ่ ไม่นำเงินมาลงทุนในตลาดจริง แต่รายได้ทั้งหมดของบริษัท มาจากค่าสมัครสมาชิก แล้วนำเงินเหล่านี้ไปจ่ายให้กับสมาชิกที่มาก่อนหน้า เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ จึงมีชื่อว่า แชร์ลูกโซ่

 

 

การทำงานของแชร์ลูกโซ่

หลายคนอาจจะคิดว่า แชร์ลูกโซ่ทำขึ้นมาเพื่ออะไร เพราะทุกวงก็วงแตก ในความจริงแล้ว ผมลองนั่งคำนวณดู จึงพบตัวเลขสำคัญในวงแชร์ลูกโซ่

 

จากภาพด้านล่าง ผมสมมุติเหตุการณ์บริษัทแชร์ลูกโซ่แห่งหนึ่งขึ้นมา โดยเขาเก็บค่าสมัคร 30,000 บาท และสมาชิกไปชวนๆ กันต่อ 1 คน ไปชวนได้ 2 คน และสามารถทำเหตุการณ์แบบนี้ได้ จนถึงเดือนที่ 12 หลังจากนั้นสมาชิกก็ลดลง 20% ในทุกๆ เดือน

 

จากกราฟเห็นได้ว่า เงินสดในบริษัทมีการเพิ่มขึ้นทุกๆ เดือน แม้จะมีการหักค่าใช้จ่ายให้สมาชิกแล้วกว่า 10% ต่อเดือน เงินสดในบริษัทยังเติบโตขึ้นได้จนถึงเดือนที่ 15 หลังจากนั้น เงินสดบริษัทก็ค่อยๆ ลดลง เพราะสมาชิกที่สมัครมาใหม่ลดลงเรื่อยๆ

 

จริงๆ แล้ว ในช่วงเวลานี้เองที่บริษัทแชร์ลูกโซ่ต่างๆ เริ่มคำนึงแล้ว เพราะหากปล่อยไปแบบนี้บริษัทจะติดลบ แน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้เขาต้องคำนวณเอาไว้หมดแล้ว เมื่อสมาชิกเริ่มลดลง จะเห็นได้ว่าเงินสดในบริษัทเริ่มหายไป หากปล่อยไว้ไปเรื่อยๆ เงินสดจะติดลบแน่นอน เขาจึงเลือกหอบเงินหนีในตอนที่ยังทำได้นั่นเอง หลังจากนั้นถึงจะมีการฟ้องร้องตามมา แต่จากคดีเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้น สามารถยึดทรัพย์ผู้ที่ทำแชร์ลูกโซ่ได้ไม่ถึง 40% ของวงเงินความเสียหาย

 

สรุป เห็นได้ว่าบริษัทแชร์ลูกโซ่ไม่มีปาฏิหาริย์ เพราะบริษัทไม่ได้อยู่ได้ด้วยธุรกิจของตัวเอง ซึ่งไม่ช้าก็เร็วยังไงบริษัทก็ล่มอยู่ดี

 

 

แชร์ลูกโซ่ มีต้นกำเนิดมาจากไหน

ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) คือ บิดาผู้คิดค้นการหลอกลวงแบบแชร์ลูกโซ่ ในปี 1920 โดยเขาอ้างว่า จะนำเงินมาลงทุนและจะจ่ายผลตอบแทนให้ 50% ของเงินต้นภายในวันที่ 45 หรือตอบแทน 100% ภายใน 90 วัน แต่หลังจากนั้นไม่นานแชร์ลูกโซ่ของเขาก็ล้มลง ปรากฎว่าผลการหลอกลวงในครั้งนี้มีผู้คนหลงเชื่อมากกว่า 1,000 คน หลักการหลอกลงของเขาก็คือ แชร์ลูกโซ่โดยทั่วไป โดยอ้างนำเงินมาลงทุน แต่แท้ที่จริงแล้ว เขานำเงินของคนที่มาสมัครมาจ่ายให้คนที่มาสมัครก่อนหน้า ทำให้ในต่างประเทศเรียกการฉ้อโกงแชร์ลูกโซ่ว่า “Ponzi Scheme”

 

แชร์ลูกโซ่ วงใหญ่ที่สุดในโลก

Bernard Madoff เจ้าพ่อ แชร์ลูกโซ่ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากอดีตประธานตลาดหุ้นแนสแด็ก(Nasdaq) ตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ผันตัวเป็นมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายไปกว่า 2ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลา 30 ปี แมดอฟฟ์เป็นคนฉลาดมากในการวางตลาด โดยที่กองทุนของเขาจำกัดลูกค้าในกลุ่มที่มี potential หรือศักยภาพ อย่างเช่นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ตั้งแต่การเมือง, ภาพยนตร์ทีวี, นักร้อง, และวงการกีฬา มีความน่าชื่อถือ ทำให้นักลงทุนที่เข้ามาใหม่ๆรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าต้องการจริงๆ

 

แมดอฟฟ์มักจะปฏิเสธที่จะพบกับผู้ลงทุนโดยตรง ซึ่งยิ่งเพิ่มความน่าสนใจที่จะลงทุนกับเขา นักลงทุนบางท่านไม่กล้าที่จะถอนเงินออกจากกองทุน เพราะกลัวว่าจะกลับเข้าไปเหมือนเก่าไม่ได้ในภายหลัง เมดอฟฟ์มีชื่อเสียง ภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ หัวการค้า และอีโก้ในการทำแผนลวงที่โลกต้องจารึก เขาหลอกลูกค้าด้วยการการันตีผลตอบแทน

 

และยังบอกอีกว่าเขามีสูตรทางคอมพิวเตอร์ที่จะการันตีผลตอบแทนไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร

  • เขาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของหน่วยงานภาครัฐกลาง กลต. ของสหรัฐอเมริกา
  • เขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงตลาดหุ้น จากการพัฒนาโครงสร้างตลาดและระบบการซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์
  • เขาร่วมก่อตั้งและยังเป็นถึงอดีตประธานตลาดหุ้นแนสแด็ก(Nasdaq) ตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

 

2 ปีให้หลังถัดจากวันเกิดเหตุ มาร์ค แมดอฟฟ์ ลูกชายคนโตของเบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ ตัดสินใจฆ่าตัวตายในบ้านพัก แมดอฟฟ์มีหลานทั้งหมด 5 คน และทุกคนล้วนเปลี่ยนนามสกุล ไม่มีแมดอฟฟ์หลงเหลืออีกต่อไป ไม่ได้มีแค่มาร์ค ลูกชายคนโตของเขาเพียงคนเดียว ที่ต้องสังเวยให้กับอาชญากรรมครั้งนี้ ยังมีนักลงทุนอีกหลายคนที่เลือกจะปลิดชีวิตตัวเองจากการสูญเสียเงิน

 

ยกตัวอย่างเช่น มีนายธนาคารชาวฝรั่งเศสที่ลงทุนไปกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ กินยานอนหลับและกรีดข้อมือ ยังไม่รวมคนอีกจำนวนมากที่เจ็บปวด กับการวางแผนการเงินผ่าน Ponzi Scheme ซึ่งหลายคนใช้เงินเก็บทั้งชีวิตมาลงทุนแล้วค้นพบว่าเงินทั้งหมดหายเป็นอากาศธาตุไป

 

แชร์ลูกโซ่ ในประเทศไทย

แชร์ลูกโซ่ ในประเทศไทย มีเกิดขึ้นจำนวนบ่อยครั้งและเกิดขึ้นแทบทุกปี โดยแต่ละครั้งที่มีการหลอกลวงเกิดขึ้น มักจะสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมากกระทบต่อคนหลายร้อยหลายพันคน

 

ตัวอย่าง แชร์ลูกโซ่ในไทย

 

แชร์แม่ชม้อย

แชร์วงนี้สามารถหลอกเงินนักลงทุนไปได้มากถึง 4,043 ล้านบาท มีผู้เสียหาย 13,248 คน  แรงจูงใจที่ทำให้คนสนใจลงทุนจำนวนมาก คือการชักชวนให้ลงทุนรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทน 6.5% ต่อเดือน หรือ 78% ต่อปี ข้อมูลจาก bangkokbiznews.com

 

 แชร์แม่มณี

“แม่มณี” แม่ค้าออนไลน์ ที่เปิดวงแชร์ชวนคนมาออมและลงทุน ผ่านโซเชียลมีเดียโดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 93% ในระยะสั้น เช่น ให้ลงทุนวงละ 1,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 930 บาท/วง เมื่อครบกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ลงทุนหรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่พวกจำเลยแจ้ง ผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนกลับไปจำนวนวงแชร์ละ 1,930 บาท

 

โดยแม่มณีและพวกมีการอ้างจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนมากถึง 1,116–3,040.45% ต่อปี ข้อมูลจาก bangkokbiznews.com

 

Forex 3D

การ ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนโดยอ้างว่าจะนำเงินไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex) โดยเสนอผลตอบแทน 60-80% ของเงินผลกำไรที่ได้จากการนำไปลงทุนเทรดค่าเงิน โดยชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ www.forex-3d.com อ้างว่ามีเทรดเดอร์มืออาชีพเป็นผู้เทรดให้กับผู้ลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเทรดเงินก็สามารถทำกำไรได้ง่ายๆ เพียงแค่นักลงทุนฝากเงินเข้ามาก็สามารถที่จะรอรับเงินปันผลได้เลย

 

อ้างว่ามีมืออาชีพอย่าง บริษัทอาร์เอ็มเอสฯ เทรดให้ เริ่มต้นลงทุนประมาณ 5,000 บาท ช่วงหลังขยับมาเป็น 50,000 บาท แถมมีการประกันเงินต้น 100% ไม่มีการขาดทุน ซึ่งเป็นไปได้ยากมากๆ ในมิติของการลงทุนที่มีความเสี่ยง การหลอกลวงในครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียหาย จำนวน 8,436 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,908 ล้านบาท ข้อมูลจาก bangkokbiznews.com

 

 บ้าน milk milk

“บ้านออมเงิน” ซึ่งอีกหนึ่งเคส ที่ใช้การออมเงินดอกเบี้ยสูง หรือที่เรียกกันว่า “ออมกินดอก” มาจูงใจ นักศึกษาวัย 22 ปี เปิดเพจเฟซบุ๊คเพื่อให้สมาชิกนำเงินเข้ามาออมไว้ตัวเองแล้วให้ผลตอบแทนการันตีเป็นราย 10 วัน 20 วันหรือ 30 วัน ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นก็ลดหลั่นกันไปตามจำนวนเงินที่นำมาฝาก เช่น ฝาก 10,000 บาทเป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือ 30 วันจะได้รับเงินกลับไปเป็นเงิน 13,000 บาท

 

โดยการอ้างเป็นการฝากเงิน ออมเงิน เป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายและรู้สึกว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆ ไม่ต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติมทำให้หลายคนตัดสินใจนำเงินมาฝากไว้กับ บ้าน milk milk เพื่อหวังผลตอบแทนสูงลิบเมื่อเทียบกับการฝากในบัญชีออมทรัพย์ หรือฝากประจำ ทำให้หลายคนนำเงินมาร่วมออม ก่อนจะประกาศล้มวงแชร์ ครั้งนี้มีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 สูญเงินรวมกันมูลค่าทั้งหมดราว 300-400 ล้านบาท ข้อมูลจาก bangkokbiznews.com

 

แชร์ลูกโซ่ สังเกตไม่ยาก ดูง่าย 2 ข้อ

เรามาดูวิธีการสังเกตแชร์ลูกโซ่ จริงๆ แล้ว ดูไม่ยาก เพราะแชร์ลูกโซ่มีรูปแบบการหลอกลวงเดียว คือ นำเงินสมัครของคนที่สมัครที่หลัง มาจ่ายให้กับคนที่มาก่อนหน้า โดยกลุ่มแชร์ลูกโซ่ มักจะแอบอ้างธุรกิจที่กำลังมาแรงมาใช้ในการบังหน้า เช่น Forex, Bitcoin, หุ้น, ทองคำ หรือ  Startup เป็นต้น วิธีการสังเกตของเราแทบไม่ต้องสนใจว่าเขาจะทำธุรกิจอะไร แค่สังเกตว่าเขาทำแบบนี้หรือไม่?

 

1. อ้างผลตอบแทน มากกว่า 10% ต่อปี

อ้างผลตอบแทน แบบการันตี มากกว่า 1% ต่อเดือน ในความจริงแล้วมันทำยากมาก แม้มันอาจจะทำได้ แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง แต่กลุ่มแชร์ลูกโซ่เหล่านี้มักจะอ้างตัวเลขที่สูงเกินจริง เพื่อดึงดูดในผู้คนสนใจ หากผลตอบแทนสูงขนาดนี้ บริษัทเขาต้องชี้แจงรายได้ของบริษัทได้ แต่แน่นอนว่าบริษัทแชร์ลูกโซ่ไม่สามารถชี้แจงที่มาของรายได้ได้

 

2. ระบบเชิญคนอื่นมาสมัคร โดยเก็บค่าสมัคร

ระบบเชิญคนอื่นมาสมัคร โดยเก็บค่าสมัคร เป็นจำนวนเงินที่เยอะ อันนี้แทบจะชัดเจนว่าจะนำเงินนี้ไปจ่ายคนที่มาสมัครก่อนหน้า แต่ก็มีกลุ่มมิจฉาชีพบางส่วนที่นำสิ่งของมาแลกเป็นการ Stock สินค้า เพื่อปิดช่องโหว่ในระบบแชร์ลูกโซ่